นิโคติน นั้น พบได้ทั้งในบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า โดยการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2566 พบว่าจากจำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 57 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ถึง 9.9 ล้านคน และมีแนวโน้มเยาวชนจะสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากค่านิยม ภาพลักษณ์ กลยุทธ์การโฆษณา
ซึ่งนิโคติน สามารถทำให้เกิดการเสพติดและส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกาย โดยไม่ได้ก่ออันตรายให้แก่ผู้สูบเท่านั้น แต่ยังมีควันบุหรี่มือสอง ที่คอยส่งผลร้ายต่อคนที่อยู่รอบข้างอีกด้วย
โทษของนิโคตินมีอะไรบ้าง ร้ายแรงแค่ไหน พบคำตอบของคุณได้ในบทความนี้
นิโคตินคืออะไร?
นิโคติน เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ สกัดได้จากพืชใน genus nicotiana ซึ่งสปีชี่ส์ที่พบนิโคตินได้มากที่สุดคือ tabacum
- มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี แต่เมื่อเผาไฟจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- พบได้หลายรูปแบบ เช่น บุหรี่ ซิกี้ แผ่นแปะผิวหนัง เคี้ยวหมากฝรั่ง รวมไปถึงยานัตถ์และยาเส้น สารนิโคตินสามารถดูดซึมผ่านผิวหนัง เยื่อบุผิวในปากจมูก หรือการสูดดมเข้าสู่ปอด โดยรูปแบบการสูบบุหรี่ จะทำให้ผู้เสพติด นิโคตินได้มากที่สุด
พิษจากนิโคติน
- อาการพิษจากนิโคตินแบบเฉียบพลัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย แสบร้อน คล้ายไฟไหม้ แสบตา ตาแดง ปวดศรีษะ มึนงง สับสน ชัก
- อาการพิษจากนิโคตินแบบเรื้อรัง เนื่องจากสารนิโคตินมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท เมื่อเสพในขนาดต่ำ ๆ จะกระตุ้นระบบประสาทให้รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย ลดความเครียด ถ้าเสพในปริมาณสูง จะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันสูง และเกิดการทนต่อยา ทำให้ผู้เสพต้องการเสพในปริมาณที่มากขึ้น และเมื่อหยุดยา จะทำให้เกิดอาการถอนยา อยากเสพติดไปเรื่อย ๆ ซึ่งในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังต่อไปนี้
โทษของ นิโคติน แบบเรื้อรัง
- เป็นสารก่อมะเร็ง สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด นิโคตินกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันสูง หลอดเลือดหัวใจตีบและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ระบบทางเดินหายใจ นิโคตินทำให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพอง หลอดลมตีบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- ระบบทางเดินอาหาร นิโคตินกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น การเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารผิดปกติส่งผลให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานลดลง ส่งผลให้แผลหายช้า เพิ่มโอกาสติดเชื้อบางชนิด เช่น วัณโรคปอด
- ระบบสายตา เพิ่มโอกาสเกิดโรคจอตาเสื่อม และโรคต้อกระจก
- ระบบไต เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเสื่อม หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย
- ระบบสืบพันธุ์
- ในเพศชาย นิโคติน ลดไนตริกออกไซด์ ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว นอกจากนี้ยังลดการสร้างฮอร์โมนเพศชายเกสโกสเตอโรน ลดการสร้างอสุจิ ทำให้มีบุตรยาก
- ในเพศหญิง นิโคติน ส่งผลต่อความผิดปกติของการตกไข่ ประจำเดอนมาไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีบุตรยาก รวมถึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และมีความเสี่ยงต่อภาวะแท้งบุตร
- ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม นิโคตินลดระดับไขมันดี และเพิ่มไขมันเลวทำให้เสี่ยงต่อโรคไขมันในเลือดสูง และยังมีข้อมูลว่านิโคตินมีส่วนทำให้เกิดภาวะดื้อต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง